การสิ้นสุดจักรวรรดิออตโตมัน และการเกิดสาธารณรัฐตุรกี ของ ประวัติศาสตร์อานาโตเลีย

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สุลต่านออตโตมันบางพระองค์ทรงพยายามที่จะปฏิรูประบบการเมืองและเศรษฐกิจของจักรวรรดิออตโตมันให้ทันสมัย ทัดเทียมอารยประเทศในยุโรป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง เนื่องจากสงครามได้ปะทุขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนทั่วดินแดนซึ่งเป็นเมืองขึ้นของออตโตมัน จักรวรรดิออตโตมันต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก การปฏิรูปจึงไม่บรรลุผล พระราชอำนาจของสุลต่านได้เสื่อมถอยลงเป็นลำดับ ในขณะที่อำนาจของขุนนางภายใต้การนำของอัครมหาเสนาบดีมีมากขึ้น

ในปี ค.ศ. 1876 กลุ่มปัญญาชนซึ่งเรียกตัวเองว่า ยังเติร์ก (Young Turks) ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง และบีบให้สุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 (Abdulhamid II) พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก เปลี่ยนแปลงการปกครองของจักรวรรดิมาเป็นระบบรัฐสภาโดยมีสุลต่านเป็นประมุขเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดีรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้ได้เพียงปีเดียว ในปี ค.ศ. 1877 สุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 ได้ทรงยกเลิกรัฐธรรมนูญดังกล่าว การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันได้ถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง

ในปี ค.ศ. 1908 กลุ่มยังเติร์กได้ก่อการปฏิวัติบีบบังคับให้สุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ในปีต่อมาสุลต่านพระองค์นี้ถูกปลดออกจากพระราชอำนาจ สุลต่านเมห์เมตที่ 5 ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อมาไม่มีพระราชอำนาจที่แท้จริงแต่อย่างใด ทรงเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น

Enver Pasha ผู้นำกลุ่มเติร์กหนุ่มได้รวบอำนาจปกครองประเทศไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และในปี ค.ศ. 1914 ได้นำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกับฝ่ายเยอรมัน สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงโดยเยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จักรวรรดิออตโตมันจึงตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามด้วย ต้องยอมลงนามสนธิสัญญา Sevres ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1920 ซึ่งเป็นผลให้จักรวรรดิออตโตมันต้องสูญเสียดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นที่เหลือในบอลข่านและตะวันออกกลาง และที่เลวร้ายที่สุดคือ อานาโตเลียถิ่นที่อยู่ของชาวเติร์ก และอิสตันบูลได้ถูกกองกำลังของชาติยุโรปที่ชนะสงครามเข้ายึดครอง การยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข และการถูกบีบให้ลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุการณ์อันน่าอัปยศอดสูที่ชาวตุรกียังจดจำได้เป็นอย่างดี ทุกครั้งที่ตุรกีตกอยู่ในสภาวะที่ถูกบีบบังคับจากภายนอก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในครั้งนี้เสมอๆ

ชาวเติร์กส่วนใหญ่แม้จะยอมรับการสูญเสียดินแดนที่เคยเป็นเมืองขึ้น แต่ไม่อาจยอมรับความพยายามของชาติตะวันตกที่จะยึดครองอานาโตเลีย ซึ่งชาวเติร์กถือว่าเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของชาวเติร์ก รัฐบาลของออตโตมันในขณะนั้นอยู่ในภาวะที่อ่อนแอเกินกว่าที่จะต่อรองอะไรได้ ชาวเติร์กผู้รักชาติจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง โดยมีมุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) เป็นผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation) จึงอุบัติขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1919 – ค.ศ. 1923

ในช่วงนี้ได้เกิดรัฐบาลขึ้น 2 รัฐบาล คือ รัฐบาลของสุลต่านออตโตมัน ซึ่งตั้งอยู่ที่นครอิสตันบูล และรัฐบาลแห่งสมัชชาใหญ่ตุรกี (The Government of the Turkey Grand National Assembly) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงอังการา การต่อสู้ในสงครามเพื่ออิสรภาพสิ้นสุดลงด้วยการลงนามสนธิสัญญาโลซานน์ (Lausanne) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1923 ซึ่งนำไปสู่การรับรองเขตแดนของประเทศตุรกีในปัจจุบัน และการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งมีกรุงอังการาเป็นเมืองหลวง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1923

ก่อนหน้าที่จะมีการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีในปี ค.ศ. 1923 รัฐสภาของรัฐบาลอังการาได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1922 ยกเลิกระบบสุลต่าน ซึ่งยังคงมีอำนาจปกครองเพียงนครอิสตันบูลเท่านั้น ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 อัครมหาเสนาบดีคนสุดท้ายของรัฐบาลออตโตมันได้ยื่นใบลาออก และในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน สุลต่านเมห์เมตที่ 6 สุลต่านพระองค์สุดท้ายของออตโตมันได้เสด็จไปลี้ภัยในต่างประเทศ โดยเสด็จออกจากนครอิสตันบูลโดยเรือรบของอังกฤษ เป็นการปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ของจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งมีอายุยืนยาวกว่า 600 ปี

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย